วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เจาะลึก...รพ.สต.!วันที่เป็น'หมออนามัยหน้าจอ' ภาค 2



พอดีผมได้เห็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ หัวข้อ "เจาะลึก...รพ.สต.!วันที่เป็น'หมออนามัยหน้าจอ'" จริงๆแล้วผมเองรู้สึกเฉยๆ และ คิดว่าจะไม่ยุ่ง (แต่สุดท้ายก็อดไม่ได้)  ตลอดระยะเวลาของการทำงาน IT 10 กว่าปีของผม ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขเริ่มคิดแนวทางพัฒนาแฟ้มข้อมูลมาตรฐานสำหรับเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสาธารณสุขจากโปรแกรมที่มีหลากหลายในประเทศไทย เริ่มจาก 18 แฟ้ม-->18+12 แฟ้ม-->21 แฟ้ม-->43 แฟ้ม  และ ล่าสุด New 43 แฟ้มที่กำลังจะประกาศออกมาในปี 2558 นี้

ในความเห็นโดยส่วนตัวของผมกระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดที่มาถูกทางแล้ว และ หากสามารถทำได้จริง โปรแกรมระบบงานสาธารณสุขจะเป็นเหมือน Smart Phone ยิ่งออกมามากเท่าไหร่ก็ต้องยิ่งแข่งกันพัฒนาไม่ใช่ผูกขาดแล้วใช้ความได้เปรียบว่าคนใช้มากกว่ามาเป็นข้อต่อรอง ซึ่งเมื่อใดที่เกิดการบังคับใช้โปรแกรมของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง การพัฒนาจะช้าลง และบริษัทจะเป็นผู้ถือนโยบายแทนส่วนกลาง (ต้องทำงานตามโปรแกรม ไม่ใช่กำหนดให้โปรแกรมตอบระบบงาน)  ซึ่งในเรื่องของการพัฒนาแฟ้มมาตรฐานนั้นต้องอดทนรอคอยเพราะต้องปรับจูนปัญหาที่พบจากการทำงาน และพัฒนาให้ตอบโจทย์การทำงานให้ได้อยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนทิ้ง สร้างใหม่มาอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ทุกอย่างมันไม่นิ่งแฟ้มที่ควรจะอยู่นิ่งก็ถูกปรับไปด้วย จึงทำให้ทุกอย่างเกิดความยุ่งยากวุ่นวาย เปรียบเสมือนกันกับเด็กกลุ่มนึงที่ไม่มีใครอ่านหนังสือออก แต่กำลังเดาเนื้อหาของหนังสือที่วางอยู่ตรงกลางวงสนทนา...

ก่อนที่ผมจะเข้าเรื่องผมขอเกริ่นนำนิดนึงว่าเรื่องที่ผมจะวิพากษณ์ต่อไปนี้อาจจะยืดยาวสักเล็กน้อย และเป็นความคิดเห็นของผมเพียงคนเดียว จากประสบการณ์ทำงานด้าน IT มาตลอดระยะเวลาตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี จนปัจจุบันอายุก็ย่างเข้าเลข 4x แต่สิ่งที่อยากให้เกิดกลับย่ำอยู่กับที่ และหวังว่าก่อนเกษียณผมคงจะได้เห็นระบบที่ฝันไว้เกิดขึ้นจริง...

เข้าเรื่องนะครับบังเอิญผมเห็นเนื้อหาข่าวที่หลายๆท่าน Share กันอยู่บน Social Network แล้วก็วิจารณ์กันอย่างมันส์ในอารมณ์ในสถานการณ์ที่กำลังครุกรุ่นวุ่นวายภายในกระทรวงสาธารณสุข




เนื้อหาข่าว : http://www.komchadluek.net/mobile/detail/20140619/186751.html


อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวที่ผม Post ไว้ใน Social Media ผมเองไม่ได้เข้าข้างฝั่งใดและขอพูดตามเนื้อผ้า ตามหน้างานที่ผมเห็นมา(เป็นความเห็นส่วนตัวของผมทั้งสิ้น)

เมื่ออ่านเนื้อหาตามข่าวเสร็จผมจึงเกิดข้อสงสัย ดังนี้ครับ

เออ...ผมไม่ได้จะขัดนะครับเห็นด้วย แต่ว่า

1. "จึงไม่ควรบีบการทำงานด้วยการกำหนดเวลาที่ต้องส่งบันทึกข้อมูลเพื่อรับเงิน" ใครบังคับหรือครับ ?

- แลกเปลี่ยนตามสิ่งที่เห็น และ รับทราบนะครับ ในเรื่องของข้อมูล สปสช. จ่ายเงินตามข้อมูลที่ส่งไปเท่านั้น ถ้าการคีย์เป็นภาระท่านไม่คีย์ส่งไปทาง สปสช.ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเพราะผลงานของ สปสช. คือ การบริหารจัดการเรื่องเงินเท่านั้น ดังนั้นคำว่า "หากข้อมูลที่ส่งไม่ครบหรือไม่ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด เงินที่จะได้รับก็จะถูกตัด" มันไม่มีการตัดนะครับแต่เป็นการจ่ายตามข้อมูลที่ส่งเข้าไปเท่านั้นเอง เช่น ที่จังหวัดผม จนท.หลายคนโทรมาสอบถามผมว่าคีย์ไม่ทันแน่ๆ มีปัญหาอะไรไหม ผมจะบอกว่าไม่ทันไม่เป็นไรแค่ไม่ได้เงินแต่เราเน้นคีย์เพื่อนำข้อมูลมาใช้ดังนั้นการให้สัมภาษณ์ว่า สปสช.บังคับ อาจจะไม่ใช่มันเป็นแค่เกณฑ์การส่งข้อมูลเท่านั้นเอง ส่วนงบประมาณก็ไม่ได้มีส่วนนี้ส่วนเดียวหลายท่านลืมเรื่อง งบฯ PP ที่เหมาจ่ายรายหัวไปแล้วหรือ? ไม่เห็นมีใครพูดถึง งบฯที่ท่านกำลังพูดกันอยู่นี้มันเป็นแค่เป็นเรื่องของการกระตุ้นการคีย์ข้อมูลเท่านั้นเอง เป็นแค่ส่วนนึงของงบฯ ที่ไหลเข้ามาจากงบฯ ที่มีอยู่อีกหลายก้อน

2. "และยกเลิกการบันทึกข้อมูลบางเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของหมออนามัย" เรื่องอะไรบ้างที่ไม่ใช่หน้าที่ของหมออนามัยครับ?

- เอ ??? ใน 21 แฟ้มมีเรื่องอะไรบ้างที่ไม่ใช่หน้าที่ของหมออนามัย อืม...นั่นสิ ผมเองกำลังคิดว่าหรือจะกลับไปยุคใช้ระเบียน รบ.1 ก 01 , 02 , 03 กันดี ตัดยาด้วยมือ เก็บข้อมูลด้วยทะเบียนมือ นั่งทอยรี่นับรายงานด้วยมือ... อืม...สำหรับผมประเด็นที่ 2 นี่น่าสนใจกว่าครับ....

3. ผมเองไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องการคีย์ทั้งหมดอยู่แล้ว ไม่เห็นด้วยแม้กระทั่งการต้องส่งข้อมูลรายบุคคลไปให้ส่วนกลาง รวมไปถึงการบังคับใช้โปรแกรมเดียวกัน หลายเรื่องที่มันไร้สาระ แต่ตามเนื้อข่าวที่ผมอ่านมานี่มันเป็นการพูดลักษณะว่าเน่า "เหมาเข่ง" ผมอยากให้ลองคิดดูดีๆครับว่าจริงๆแล้วมันมี ข้อดี ข้อเสีย อะไรมากกน้อยแค่ไหน ควรบอกข้อเสนอแนะทางออกเพื่อแก้ไขด้วยจะ Perfect มากเลยครับ


หลังจากนั้นได้เห็นหลายเจ้าหน้าที่หลายๆท่านพยายามทวงศักดิ์ศรีของหมออนามัยคืนมาผมจึงต้องลงข้อความไปอีกชุดนึงตามนี้

ต้องขอโทษด้วยนะครับถ้าเม้นท์ผมทำให้หลายท่านรู้สึกขัดใจ...แต่สิ่งที่ควรจะกระทำเลย คือ เราต้องเสนอทางออกให้ผู้ใหญ่ครับ ถ้าเราบอกแต่ความอยากแต่ไม่เสนอทางออกมันจะกลายเป็นเพียง "คำบ่น" จากคนทำงาน เขาไม่ทราบหรอกครับว่าต้องมีทางออกอย่างไร? ถ้าเราไม่เสนอไป... ถ้าต้องการให้ปัญหาถูกแก้ไข เราต้องชี้นำวิธีการครับ ข่าวที่เสนอมาข้างต้นเท่าที่ผมอ่านเหมือนเป็นการบ่นเสียมากกว่า... แต่จริงๆแล้วต้องกระเทาะให้เห็นถึงปัญหาครับ ผมขออนุญาตร่ายยาวอีกชุดนะครับ

1. ถามว่าในข้อมูล 21 แฟ้มที่เราคีย์ส่งกันนั้นข้อมูลอะไรที่เป็นภาระ ทั้งหมดจริงหรือไม่? ทำไมสมัยก่อนเราเอาโปรแรมมาใช้งานทั้งๆที่ไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเรายังคีย์ข้อมูลกันได้ เราคีย์ข้อมูลอะไรกัน?
เท่าที่ผมเห็นตอบตรงๆปัญหาจุกจิกในการคีย์ข้อมูลบางเรื่องมาจากเงื่อนไขที่ทาง จนท.สร้างขึ้นเอง หรือ โปรแกรมบังคับให้ต้องคีย์ เช่น การคัดกรอง DM&HT บางโปรแกรมต้องไปคีย์เป็นบริการด้วยให้ครบสูตรเปิดทั้ง Service ลง Diag ครบครัน ทั้งๆที่จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องลงเลยด้วยซ้ำ ท่านทราบหรือไม่ว่ารหัส Z คัดกรองนั้น สปสช.ไม่คิด Point ให้ ยกเว้นคัดกรอง 3 เรื่องเท่านั้น (จำไม่ได้) แล้วจริงๆแล้วทำไมท่านถึงต้องไปเพิ่มภาระการคีย์(ขออภัยนะครับ เนื่องจากจังหวัดผมใช้ 2 โปรแกรม อีกโปรแกรมนึงมีรายชื่อคนที่ต้องคัดกรองขึ้นมาแล้วคีย์ลงไปตรงๆเลยไม่ต้องไปเปิดบริการลงอะไรให้วุ่นวาย ผมเลยไม่ทราบว่าโปรแกรมอื่นเป็นอย่างไร?)

2. เมื่อตอบคำถามข้อ 1 ได้แล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาเราจะมีหาทางออกเช่นไรเพื่อที่จะทวงคุณค่าและศักดิ์ศรีหมออนามัย....ต้องทำงานชุมชนจริงๆ แล้วกระทรวงจะทราบได้อย่างไรว่าเราทำงานชุมชนจริงๆ แน่นอนครับตอนนี้ทางท่านปลัดฯส่งสัญญาณบางอย่างมาแล้วว่าข้อมูลบางเรื่องเราอาจไม่ต้องคีย์ อาจให้ส่งเป็นรายงานแบบเดิม แต่ทางกระทรวง+สตง. อาจจะมีการลงสุ่มโดยการจ้างบริษัทมาลงสำรวจพื้นที่ว่าท่านได้ทำงานชุมชนจริงๆ ตามที่รายงานส่วนกลางไปหรือไม่? ซึ่งนโยบายยังไม่แน่ชัดแต่น่าจะออกมาในรูปแบบแนวๆนี้

ทุกคนทำงานมีความตั้งใจครับแต่ถ้ามันเป็นปัญหาผมอยากให้ท่านวิเคราะห์ว่าจริงๆแล้วนั้นปัญหา คือ อะไร? จากประเด็นที่กำลังกล่าวถึงจริงๆ หรือไม่? แล้วเงื่อนไขที่จะช่วยให้ปัญหาหมดไปมีอะไร? ถ้าหลายเสียงช่วยส่งออกไปในลักษณะนี้ผมคิดว่าปัญหาน่าจะได้รับการแก้ไขแน่นอน เหมือนปัญหา New 43 แฟ้ม ในตอนนี้ เท่าที่ทราบ สปสช.จะใช้ 43 แฟ้ม แต่เงินจะไม่มีการจัดสรรในกองทุน OP แล้ว...ความแน่ชัดรอฟังประกาศอีกครั้ง หรือ ไม่แน่หากกระทรวงยกเลิกการคีย์ข้อมูล(ท่านปลัดฯ ทราบปัญหานี้และลงสอบถามจากพื้นที่เอง) สปสช. อาจจะไม่มีงบฯ สำหรับการดำเนินการส่วนนี้ทั้งหมดเลยก็เป็นได้ ใครจะคีย์ก็คีย์ไป แต่ไม่มีเงินสำหรับเรื่องนี้ก็อาจเป็นได้ครับ


จริงๆแล้วในความเป็นจริงที่ผมรับทราบมามันเป็นเช่นดังที่ผมกล่าวมาในข้อความข้างต้นจริงๆ จนผมไปเห็นข้อความจากพี่สาวของผมที่กล่าวไว้น่าสนใจว่า


ดังนั้น การที่ผมเอาเรื่องนี้มา Post ใน Blog นี้ก็เพื่ออยากให้ จนท.ของเราลองมองดูในเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆว่าปัญหา คือ อะไร แก่นของปัญหาจริงๆแล้วมันอยู่ที่ไหน จริงๆแล้วเราต้องการอะไรกันแน่?

ผมคงไม่มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้นะครับ ผมรู้แต่ว่าในส่วนของผมเองผมก็ต้องพัฒนาระบบงานของผมต่อไปตามบทบาทหน้าที่ๆผมรับผิดชอบ สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโชคดี และขอขอบคุณที่กรุณาสละเวลาเข้ามาอ่านบทความ(ที่อาจจะไร้สาระ)ของผมครับ



ธนสิทธิ์  ภู่ขาว
จพ.สธ.ชำนาญงาน

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โรค “ปวดหัว” ของคนทำงาน

โรค “ปวดหัว” ของคนทำงาน
นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง



      หากมีใครคนหนึ่งถามว่า “คุณเคยปวดศีรษะไหม” คงมีไม่กี่คนที่จะตอบได้อย่างมั่นใจว่า "ฉันไม่เคยปวดศีรษะเลยในชีวิต"

      โรคปวดศีรษะเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป จากการศึกษาทางสถิติพบว่า โดยเฉลี่ยผู้ชายร้อยละ 93 และผู้หญิงร้อยละ 99 ต่างเคยมีอาการปวดศีรษะในช่วงชีวิต แม้ว่าอาการปวดศีรษะของคนโดยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่อาการปวดศีรษะมีความรุนแรงและเรื้อรังทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะถ้าอาการปวดศีรษะนั้นเกิดขึ้นในวัยทำงาน

      สาเหตุของอาการปวดศีรษะมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ โดยในคนสูงอายุจะมีโอกาสเกิดโรคที่มีสาเหตุร้ายแรง เช่น โรคเนื้องอกสมอง โรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดอักเสบ มากกว่าวัยรุ่นและวัยทำงานซึ่งมักมีสาเหตุจากโรคไมเกรน โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว และโรคปวดศีรษะจากความเครียด อย่างไรก็ตามในวัยทำงานซึ่งถือว่าเป็นวัยที่มีภาระและความรับผิดชอบสูง หากมีโรคปวดศีรษะมารบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันก็เหมือนกับฝันร้ายในขณะตื่นเลยทีเดียว

1. โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว
     เป็นโรคปวดศีรษะชนิดที่พบบ่อยที่สุดในวัยทำงาน เราอาจเคยได้ยินบางคนบ่นว่า มีอาการปวด มึนๆ ตึงๆ ที่ศีรษะหลังจากทำงานหนัก พักผ่อนน้อย หรือมีความเครียด โดยอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณว่า คุณกำลังมีอาการของ “โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว” ซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุด คำว่า “ตึงตัว” บ่งชี้ถึงลักษณะอาการของโรคปวดศีรษะชนิดนี้ คือ มีลักษณะปวดตึง บีบรัดศีรษะ ลักษณะคล้ายกับนำหมวกคับๆ มาสวม อาการปวดมักพบร่วมกับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและหัวไหล่ รวมถึงอาการปวดกระบอกตาและอาการมึนศีรษะ โดยอาการมักบรรเทาได้ด้วยการนวดบริเวณที่ปวดตึง อาการปวดมักมีระดับไม่รุนแรงและไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องพักหรือหยุดงาน อาการปวดมักบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล อย่างไรก็ตามแม้ว่าอาการปวดจะไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยที่ปล่อยให้เกิดอาการปวดเรื้อรังจะทำให้ยากต่อการรักษาและมีผลต่อสุขภาพจิต นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่กินยาแก้ปวดเป็นประจำอาจนำไปสู่การติดยาแก้ปวดได้

      เนื่องจากอาการปวดมักมีความสัมพันธ์กับความเครียด ทำให้มีความเชื่อว่าสาเหตุของโรคเกิดจากความเครียด แต่จากการศึกษาพบว่า ความเครียดไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคโดยตรง แต่เป็นเพียงแค่ปัจจัยกระตุ้นเท่านั้น ในปัจจุบันแม้ว่าได้มีการศึกษาค้นคว้าหาสาเหตุของโรคปวดศีรษะชนิดตึงตัวมาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่สามารถบ่งชี้สาเหตุของอาการปวดศีรษะชนิดนี้ได้อย่างแน่ชัด

      การรักษาและการป้องกันโรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว ได้แก่ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดโปร่ง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้เนื่องจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและหนังศีรษะมีความเกี่ยวพันกับการนั่งหรือนอนอยู่ในท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ดังนั้นการนั่งหรือนอนให้อยู่ในท่าที่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อจึงบรรเทาอาการและป้องกันอาการปวดศีรษะได้ อาการตึงตัวของกล้ามเนื้อสามารถบรรเทาได้ด้วยการนวดหรือการประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน ซึ่งนอกจากจะเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกแล้ว ยังลดผลข้างเคียงของยาแก้ปวดได้อีกด้วย


2.“โรคไมเกรน” โรคปวดศีรษะที่พบบ่อยรองลงมา ได้แก่ ถึงแม้ว่าโรคไมเกรนจะเป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้น้อยกว่าโรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว แต่ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะที่มีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อการทำงานมากกว่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ประสาทสัมผัสของผู้ป่วยไมเกรนจะเพิ่มความไวในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เสียง แสง กลิ่น ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นชั้นยอดต่ออาการปวดศีรษะ ร่างกายต้องพักจากการเคลื่อนไหว เนื่องจากการเคลื่อนไหวจะกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะเลวร้ายมากขึ้น จึงถือได้ว่าไมเกรนเป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างแท้จริง นอกจากนี้โรคไมเกรนยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน หงุดหงิดง่าย การนอนผิดปกติ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงไปอีก

      เนื่องจากโรคไมเกรนมีผลต่อการหดและขยายตัวของหลอดเลือดสมอง ผลของโรคไมเกรนจึงไม่ได้ทำให้เกิดแค่อาการปวดศีรษะเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพาตอีกด้วย จากการศึกษาโดยนายแพทย์ Markus Schurks จาก Brigham and Women’s Hospital ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา พบว่า ในผู้ป่วยโรคไมเกรนชนิดออร่าเรื้อรัง (ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นแสงก่อนหรือขณะปวดศีรษะ) จะมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ผลจากการศึกษาทำให้ผู้ป่วยโรคไมเกรนต้องตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาโรคไมเกรนและการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบได้

      หลักการรักษาโรคไมเกรนที่สำคัญที่สุด คือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการปวดศีรษะซึ่งได้แก่ กลิ่นฉุน แสงจ้า เสียงดัง อากาศหนาวหรือร้อนจนเกินไป นอนผิดเวลา นอนมากหรือน้อยเกินไป ความเครียด อาหารบางชนิด เช่น เนื้อที่ผ่านการถนอมอาหาร เนย เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากอาการปวดศีรษะมีความรุนแรงหรือความถี่มากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการแนะนำและการรักษาในขั้นต่อไปความเครียดกับอาการปวดศีรษะ
ในสภาวะปัจจุบันท่ามกลางสังคมแห่งการแข่งขัน ปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การงาน ปัญหาครอบครัว รวมไปถึงเรื่องการเมือง เป็นบ่อเกิดของความเครียดที่เพิ่มขึ้นในสังคม มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับความเครียด โดยเราได้ยินกันเป็นประจำกับคำว่า “เครียดจนปวดหัว” แต่ในความเป็นจริงแล้ว คงมีหลายคนสงสัยว่าความเครียดสามารถเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะได้จริงหรือ และถ้าเรากำจัดความเครียดออกไปได้แล้วอาการปวดศีรษะจะหายหรือไม่
ความเครียดมีความเกี่ยวพันกับอาการปวดศีรษะได้หลายแง่มุม หากความเครียดเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะโดยตรง เรียกโรคปวดศีรษะชนิดนี้ว่า

3. “โรคปวดศีรษะจากความเครียด” อีกกรณีหนึ่งคือความเครียดไม่ได้ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะโดยตรง แต่เป็นเพียง “ปัจจัยกระตุ้น” ให้อาการปวดจากโรคปวดศีรษะชนิดอื่นๆ กำเริบรุนแรงมากยิ่งขึ้น โรคปวดศีรษะที่ความเครียดเป็นตัวกระตุ้น ได้แก่ โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัวและโรคปวดศีรษะไมเกรน ในทางการแพทย์การวินิจฉัยแยกโรคปวดศีรษะที่มีความเกี่ยวพันกับความเครียดทั้งสองกรณีออกจากกันมีความสำคัญในแง่การรักษาและการพยากรณ์โรคในระยะยาว

      โรคปวดศีรษะจากความเครียดมีลักษณะการปวดได้หลายชนิด แต่อาการปวดมักไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตึง มึนศีรษะ หรือบางรายมีอาการปวดตุบๆ เหมือนอาการปวดศีรษะในผู้ป่วยไมเกรน หลักเกณฑ์ในการให้การวินิจฉัยคือ ผู้ป่วยต้องมีความเครียดในระดับสูงมากพอที่จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาการที่แสดงถึงความเครียดในระดับสูง ได้แก่ กระวนกระวาย อ่อนเพลียง่าย สมาธิสั้น กล้ามเนื้อตึงตัว มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน และมีความเครียดที่ยากต่อการควบคุม การรักษา ได้แก่ ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด หรืออาจพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการผ่อนคลายความเครียด ซึ่งโรคปวดศีรษะชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้

      ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะเนื่องจากความเครียดเป็นตัวกระตุ้น การรักษานอกจากจะลดความเครียดแล้ว ยังต้องรักษาโรคปวดศีรษะที่เป็นอยู่ด้วย เช่น หากเป็นโรคไมเกรนอาจต้องใช้ยารักษาโรคไมเกรนควบคู่ไปกับการลดความเครียด เป็นต้น

4. โรคปวดศีรษะกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ 
ในยุคที่เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานจนเราจินตนาการได้ยากว่าการทำงานโดยปราศจากคอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร ในแต่ละวันเราต่างใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์กันคนละหลายชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทเนื่องจากการใช้คอมพิวเตอร์

      เมื่อเราจดจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน แสงสว่างของจอมีผลทำให้กล้ามเนื้อตาเกิดการเกร็งตัว นอกจากนี้จอภาพยังมีผลทำให้สมองส่วนการรับภาพต้องทำงานหนักและทำให้เกิดภาวะเครียดและอาการมึนศีรษะตามมา อาการที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ได้แก่ อาการปวดศีรษะ มึนเวียนศีรษะ ระคายเคืองตา ปวดหรือหนักกระบอกตา การมองพร่ามัว นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้คอมพิวเตอร์ในระยะเวลานานมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคต้อหินอีกด้วย

      วิธีการหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ ได้แก่ ปรับความสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยทั่วไปความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรเท่ากับความสว่างของสิ่งแวดล้อมที่ทำงาน การใช้ฟิล์มกรองแสงที่หน้าจอหรือการใส่แว่นตาที่มีการเคลือบกันแสงสะท้อนจากหน้าจอ (anti-reflective [AR] coating) การเช็กสายตาอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากปัญหาทางสายตา เช่น สายตาสั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเมื่อใช้คอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น การบริหารดวงตาโดยการละสายตาจากคอมพิวเตอร์และกลอกตาไปมาเป็นเวลา 10-20 วินาที ทุกๆ 20 นาทีของการใช้คอมพิวเตอร์ การกะพริบตาบ่อยๆ เพื่อป้องกันอาการตาแห้งและระคายเคืองสายตา เพียงเท่านี้ก็ทำให้การทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ไม่สร้างความเครียดให้สมองและสายตามากนัก

5.โรคปวดศีรษะจากผลของคาเฟอีน
เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม เป็นที่นิยมอย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมมนุษย์ไปแล้ว จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า ประชากรทั่วไปดื่มกาแฟโดยเฉลี่ยมากถึง 2.5 แก้วต่อวัน ซึ่งคาเฟอีนที่เป็นส่วนผสมอยู่ในเครื่องดื่มจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้ร่างกายและสมองเกิดความตื่นตัว ไม่ง่วงนอน กระตุ้นระบบหัวใจและหลอดเลือด มีผลให้ร่างกายทนต่อการทำงานได้มากขึ้น

     ผลของคาเฟอีนต่อสมองและหลอดเลือดมีความเกี่ยวพันกับโรคปวดศีรษะหลายชนิดทั้งในด้านบวกและด้านลบ ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดของคาเฟอีนได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการปวดศีรษะฉับพลันของโรคไมเกรน แพทย์บางท่านแนะนำว่า เมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน การดื่มกาแฟสักหนึ่งแก้วสามารถทำให้อาการทุเลาได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าคาเฟอีนสามารถระงับอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน แต่การบริโภคคาเฟอีนติดต่อกันเป็นระยะยาว ไม่ว่าจากการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนหรือใช้ยาที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเป็นประจำ จะทำให้สมองเกิดการดื้อต่อคาเฟอีนและเกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาต้านไมเกรน ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคไมเกรนหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ หากบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมากยังมีผลทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย สมาธิสั้น ซึ่งทำให้กระตุ้นโรคปวดไมเกรนและโรคปวดศีรษะชนิดตึงตัวทางอ้อมอีกด้วย

      นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนเป็นระยะเวลานาน ร่างกายและสมองจะเกิดการปรับตัวให้เกิดภาวะติดคาเฟอีน ซึ่งทำให้เมื่อหยุดดื่มคาเฟอีนจะมีอาการปวดศีรษะ เรียกโรคปวดศีรษะชนิดนี้ว่า “โรคปวดศีรษะจากการขาดคาเฟอีน” (caffeine withdrawal headache) โดยโรคปวดศีรษะจากการขาดคาเฟอีนจะเกิดขึ้นในคนที่บริโภคคาเฟอีนอย่างน้อย 200 มิลลิกรัมต่อวัน (ปริมาณเท่ากับกาแฟ 2 แก้ว หรือชา 4 แก้ว) ซึ่งอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ทุเลาเมื่อระยะเวลาผ่านไปหลังหยุดบริโภคคาเฟอีนเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์

     เนื่องจากอาการปวดศีรษะที่พบได้ในวัยทำงานมีความหลากหลาย สิ่งที่สำคัญคือการสังเกตและเอาใจใส่ต่ออาการและสภาพแวดล้อมที่อาจมีส่วนกระตุ้นอาการปวดศีรษะ การละเลยที่จะค้นหาถึงสาเหตุของอาการปวดศีรษะที่แท้จริงและทำให้การรักษาล่าช้าตั้งแต่ระยะแรก อาจทำให้โรคปวดศีรษะมีความยากต่อการรักษา และหลายคนอาจต้องบ่นออกมาว่า “รู้อย่างนี้ รักษาตั้งแต่แรกก็ดี” ดังนั้นหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในวัยทำงานและกำลังมีอาการปวดศีรษะ คุณได้สำรวจอาการปวดศีรษะของคุณแล้วหรือยัง